เนื่องจาก ตอนสอน ผมจะอธิบายที่มาที่ไป ว่า โบเก้ เกิดขึ้นได้อย่างไร และ จะอธิบาย ต่อไปว่า เราสามารถสร้าง โบเก้ เองได้
.
ประเด็นคือ ไม่เคยทำให้เห็นสักที รูปตัวอย่างก็ไม่มี เกรงว่านักเรียนจะหาว่าโม้
เหมือน สมรักษ์? วันนี้ เลยนั่งทำให้ เห็นกันจะๆ
.
สำหรับคนที่ไม่เคยเรียน แล้วแวะเข้ามาอ่านก็อย่างเพิ่งน้อยอกน้อยใจ เพราะวันนี้จะอธิบายที่มาของโบเก้ ให้เห็นเป็นเรื่องเป็นราว
.
โบเก้ (Bokeh) มีรากศัพท์ จากภาษาญี่ปุ่น แปลว่า “เบลอ”
โดยทั่วไปเลนส์แต่ละตัวจะทำให้เกิดคุณลักษณะการเบลอของ ส่วนที่ ไม่อยู่ใน Focus แตกต่างกัน
.
เมื่อถ้าเราถ่ายภาพของ “จุด” ที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อจุดนั้นอยู่ในโฟกัส เราก็จะได้ภาพของ
“จุด” ขึ้นมาบนฉากรับ เนื่องจาก แสงที่กระจายตัวผ่านเลนส์ โดนหักเห ให้กลับมารวมกัน
หากจุดนั้นไม่ได้อยู่ที่ ตำแหน่งโฟกัส แสงที่เลนส์ได้รับ
จะโดนหักเห แล้วไปตัดกันที่ ด้านหน้า หรือ ด้านหลังของฉากรับ ทำให้เกิดภาพของจุดที่เบลอขึ้นมาบนฉากรับ
.
ทีนี้ลองมองเป็น สามมิติ
เราจะพบว่า การรวมแสงของเลนส์นั้นเป็นรูปทรงกรวย
เนื่องจาก เลนส์ มีหน้าตัดเป็นรูป วงกลม
เมื่อภาพไม่อยู่ในโฟกัส แสงจึงตัดกัน โดยสร้างภาพ
“วงกลม” ขึ้นมา
ซึ่งตามปกติ หากส่วนที่เบลอไม่ได้มีความเปรียบต่าง(Contrast) กับบริเวณโดยรอบ
มากนักเราจะมองไม่เห็นวงกลม เนื่องจากจุดจะเบลอรวมกับบริเวณโดยรอบ
จุดที่จะสร้างวงกลม (หรือโบเก้) ขึ้นมาได้ชัดเจน จึงมักจะเป็นจุด ของหลอดไฟ
หรือแสงสะท้อน ที่มีความเปรียบต่างกับบริเวณโดยรอบสูง
และด้วยลักษณะดังกล่าว เมื่อภาพเบลอมากขึ้น (อยู่ห่างจากจุดโฟกัสมาก)
จึงหมายถึง วงกลม มีขนาดใหญ่ขึ้น
วัตถุอีกชิ้น ที่จะมาสร้างให้ “ส่วนที่เบลอ”นี้เกิดรูปร่างขึ้น คือ ใบของรูรับแสง? (Aperture Blades ) ที่มักจะประกอบกันเป็นรูป
5 เหลี่ยม 6 เหลี่ยม? 7เหลี่ยม หรือ หน้าเหลี่ยม (อะล้อเล่น) ก็ขึ้นกับเลนส์ นั้นๆ
ทำให้เราได้ภาพของส่วนที่เบลอ เป็นรูปทรง ตาม จำนวนใบของรูรับแสง
ยิ่งมีเหลี่ยมมาก โบเก้ก็ยิ่งกลายเป็น “วงกลม” ได้ง่ายขึ้น
ความรู้ตรงนี้เองที่ ถูกนำมาใช้ เพื่อให้เราสามารถสร้าง รูรับแสง ของเราเองได้ โดยการใช้ กระดาษสีดำเจาะรู เป็นรูปทรง
ตามที่เราต้องการ ฉากหลัง ที่เคยเป็นโบเก้ กลมๆ หรือ เหลี่ยม ตามรูปทรงของรูรับแสง
ก็ เปลี่ยนมาเป็น รูปทรงของระดาษที่เราตัด เหมือนเราย้ายรูรับแสง ออกมาอยู่นอกเลนส์
วิธีการตัดกระดาษ คือ ให้ ตัดรูปทรงใดๆ ให้แคบกว่า
ขนาดรูรับแสงกว้างสุด แล้ววางไว้ตรงกึ่งกลางเลนส์
จากนั้นถ่ายภาพให้เกิดโบเก้
ซึ่งขนาดของรูรับแสงนี้
คำนวณ ได้จาก Focal Length / f กว้างสุด
.
เช่น ผมใช้เลนส์ 85 mm 1.8
ก็จะได้ 85 / 1.8 = 47.222 mm
.
ภาพที่เราจะตัดก็ให้ตัดเล็กกว่า
วงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 47 mm
และเนื่องจาก ปกติเราไม่สามารถวางกระดาษ
ได้ตรงกลางเลนส์ พอดี จึงควรเผื่อขนาด
ให้เส้นผ่านศูนย์กลาง เล็กลงมาอีกประมาณ
1-2 cm. ตามความเหมาะสม
ภาพตัวอย่างกระดาษ ที่ตัดไว้แล้ว
วิธีการถ่ายภาพ
1.ให้ เปิดหน้ากล้อง กว้างสุด วัดแสงโดยยังไม่มีกระดาษบัง
จากนั้น ให้ เปิด Speed หรือ ISO + 1 Stop โดยประมาณ
2.ใช้จุดโฟกัส จุดกลาง เนื่องจากกระดาษอาจบังจนทำให้
ระบบโฟกัส จุดอื่นๆไม่สามารถโฟกัสได้
3. นำกระดาษมาบังหน้าเลนส์ แล้ว ถ่ายภาพให้เกิดโบเก้ เป็นอันเสร็จพิธี 🙂
.
ปล. เนื่องจากผมมีแต่เลนส์ Prime ไม่เคยลองกับเลนส์ Zoom ใครลองแล้วได้ผลอย่างไร ช่วยบอกต่อด้วย 🙂
สาธุ