เป็นปัญหาสำหรับหลายๆคน ที่อยากจะมีสตูดิโอถ่ายภาพเป็นของตัวเองที่บ้าน ว่าที่บ้านจะพอไหม ถ่ายยังไงได้บ้าง นึกภาพไม่ออกว่า ขนาดห้องควรจะเท่าไหร่ ผมเป็นคนหนึ่งที่ พยายามทำโฮมสตูดิโอมาเองตลอด ลองผิดลองถูก กันห้อง รื้อผนังมาสองสามรอบ วันนี้เลยจะมาเขียนเกี่ยวกับขนาด สตูดิโอถ่ายภาพ ตามประสบการณ์ที่ผมเคยถ่าย ก็อยากจะแชร์ ให้ได้อ่านกัน
สิ่งที่ทำให้เราต้องใช้พื้นที่สตูดิโอ มาก หรือน้อย แค่ไหน ขึ้นกับภาพที่เราต้องการ สัมพันธ์กับเลนส์ ที่เราจะใช้ ครับ ภาพแต่ละแบบ จะนำไปสู่การกำหนดระยะ จากกล้อง ถึงแบบ และ ระยะจากแบบ ถึงฉาก
และระยะ จาก Flash ถึง แบบ ในภาพประกอบ ผมพยายามทำขนาดอุปกรณ์ และ กราฟฟิคคน ให้ถูกสัดส่วน โดยตารางที่เห็น 1ช่อง มีขนาด 1m. x 1m. บนกล้อง มี มุมองศาของเลนส์ 35mm สีเหลือง 50mm สีฟ้า และ 100 mm สีแดง
ขนาด Flash ตั้งบนขา ส่วนใหญ่ก็จะกินพื้นที่เกือบ 1ตารางm. ครับ
ส่วนตัวแบบ ผมทำวงรีประมาณ 70cm เท่าไหล่ผู้ชายตัวใหญ่มาก แล้วทำมือกางออก สองข้างประมาณ 170cm. เพราะเราถ่ายภาพแบบคงไม่ยืนเคารพธงชาติ ต้องมี ยกแขนยกขาใส่กระโปรง ถือพร๊อพกันบ้าง
เริ่มจาก ขนาดเล็กสุดก่อน
ถ้าเราให้แบบยืน เกือบติดฉาก ขนาดพื้นที่ 2×2.5 m. จะเห็นว่า ถ้าเราใช้ Softbox 1-2 ตัว เราจะแทบไม่มี พื้นที่ให้ขยับจัดแสง ใช้เลนส์ ใกล้เคียง 50mm ถ่ายได้แค่ภาพครึ่งตัว หรือถ้า Tele มากขึ้น ก็จะได้แต่ภาพ Headshot โดยจะมีเงาตกที่ฉาก ถ้านางแบบ นายแบบ ไม่สามารถแสดงอารมณ์ทางสีหน้าได้
เราก็จะได้รูปติดบัตรครับ ในการใช้งานจริง คงต้องมีทางเดิน ให้ขยับอีกนิดหน่อย เป็น 2.5×2.5 m. พื้นที่ขนาดนี้ คงเหมาะกับถ่ายสินค้าเล็กๆหน่อย จัดแสงพิสดารมากไม่ได้ Flash ต้องเลือกกำลังไฟ ให้ต่ำสุดเพื่อจะได้ลดกำลังได้ เพราะระยะใกล้มาก ฉากที่ใช้ คงเป็นฉากกว้าง 1.5-2 m. ไม่จำเป็นต้องยาวลงมาที่พื้น
แบบ ไม่สามารถโพสอะไรได้มาก กางแขนปุ๊บ มีโอกาสเกินฉากทันที
ถัดมา
ขนาดห้องทั่วไป ที่เราเจอ ก็ 3mx3m ครับ จะหลวม จากแบบแรกมาหน่อย ถ้าแบบยืน ติดฉาก เราจะถ่ายภาพแบบเต็มตัวได้ด้วยเลนส์ ช่วง ใกล้เคียง 35 mm
และ เราจะเริ่มถ่าย ภาพแบบครึ่งตัว โดยไม่มีเงาที่ฉากหลังได้ด้วยการ ให้แบบ ยืนห่างออกมาจากฉาก สัก 1.5 m. ใช้เลนส์ 50mm และเริ่มจัดไฟ ริมไลท์ (1) หรือมีไฟส่องฉาก (2) หรือ เล่น Side light ได้ บ้าง
แต่ เราจะคุมแสงลำบากครับ มีปัญหาเช่น
1. ริมไลท์ อาจจะเกิด Flare ในภาพได้ง่ายมาก ไม่มีพื้นที่ให้ คัทแสง
2. ไฟส่องฉาก อาจจะมีแสงสะท้อนจากฉากหลัง มาตกบนแบบ ถ้าไฟหลังใส่เจลสี แบบก็จะติดสี
3. ไฟ ริมไลท์ ต้องมีกำลัง ค่อนข้างต่ำ และ Sofbox ขนาดเล็ก
ฉากที่ขายกันอยู่ในตลาด ส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า ฉาก 3m. แต่จริงๆ ขนาดมันจะเล็กกว่า 3m.ครับ
จะอยู่ที่ 2.70m – 2.80m เพื่อเอาไว้ใส่ในห้องที่มีขนาด กว้าง 3m.นี่ละ
อีกปัญหาของ Studio ขนาดนี้คือ นางแบบจะโพสยกแขนยกขา มากไม่ได้ เพราะถ้าเราใช้เลนส์ไวด์ มันจะไปติด เกินพื้นที่ฉากที่กว้าง เกือบ3m.
ปัญหาอีกอย่าง ที่ทำให้ สตูดิโอขนาดเล็ก ไม่สามารถถ่ายภาพคนเต็มตัวได้ดี คือ เมื่อเราต้องวาง Flash ใกล้ จะทำให้ระยะ จาก Flash ถึงหน้า กับ ระยะจาก Flash ถึงเท้า ต่างกันมาก ความสว่างของสองส่วนจะต่างกันชัดเจนครับ จนบางทีคนจะนึกว่า นางแบบลงรองพื้นผิดเบอร์ เพราะหน้าขาวม๊าก แต่ ขาดำ ฮาๆ จริงๆ เป็นความผิดของสตูดิโอที่มันเล็กเกินไปครับ
ถัดมา ขนาด 4x4m. เป็นขนาด ที่ถ่ายได้ดี ประมาณหนึ่ง เกือบทุกอย่างครับ จัดไฟได้ คัดแสงได้
ถ่ายเต็มตัวครึ่งตัว ส่องไฟที่ฉาก ใส่ริมไลท์ ได้ แต่จะได้แบบจำกัดจำเขี่ยหน่อย จัดองค์ประกอบลำบาก บางทีจะติดขา Flash ฉากหลังบ้าง จริงๆปัญหา แทบไม่ต่างกับ 3×3 m. แต่ หลวมขึ้นหน่อย ก็ทำอะไรได้มากขึ้น
ขนาด 4×7 m. เป็นขนาดที่ผมแนะนำ สำหรับ โฮมสตูดิโอ เป็นขนาดเล็กสุดสำหรับการถ่ายภาพ บุคคล 1คน ครับ จัดแสงได้เกือบทุกแบบแล้ว ถ้า Setting ไม่ได้อลังการมาก ถ่ายเต็มตัวครึ่งตัวได้ นางแบบพอจะโพสกางแขนกางขาได้ ถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ประมาณ 1×1.5 m.ได้ สมัยนี้ตรงไหนขาดเหลือ เราก็ใช้ Photoshop ช่วยแก้ไขเอา ขนาดสตูขนาดนี้ จะพอมีพื้นที่เหลือสำหรับ วางเก้าอี้นั่งเล่น มีพื้นที่ให้ นั่งรอ อีก 1-2 คน
แต่ อย่าขนคนมาเป็นสิบคน ทำงานระดับ มีเจ้าของมาดู มีอาร์ตไดเร็กเตอร์ มาร์เก็ตติ้ง มีสไตล์ลิส อะไรแบบนี้นะครับเละแน่นอน บ้านผม ขนาดใกล้เคียงขนาดนี้ครับ
ขนาด สตูดิโอที่ทำงานได้จริง ขนาดเล็กสุด คงประมาณ 6×8 ถึง 6×10 m. ขึ้นไปครับ จะเป็นขนาดที่เราจัดแสง คัทแสง ถ่ายภาพครอบครัว วางโซฟา ให้นั่งสัก 3คนได้ ทำผนังโค้งสีขาวด้านหนึ่ง เป็นฉาก และมี ฉากล้อเลื่อนสีอื่นๆ มีพื้นที่ไว้แขวน ขาตั้ง Flash อุปกรณ์ได้ ชุดเก้าอี้มานั่งเล่นชิวๆ ได้สักชุด
พื้นที่เพียงพอสำหรับคนสัก หกเจ็ดคน ทำงานเป็นทีมได้ ถ่ายคนจำนวนมากหน่อย พร้อมๆ กันได้
หรือจะเล่นสีย้อมฉากเล่นไฟ คัทไฟ ก็ทำได้ โดยยังถ่ายคนสัก 3-4 คน หรือ มีพร๊อพ มีโซฟา มีมอเตอรไซด์ ได้ ควบคุมแสงแต่ละส่วนได้เต็มที่
จึงเป็นปกติว่า ขนาดสตู ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งดีครับ แต่ ก็จะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายอื่นเช่น ค่าไฟ ค่าแอร์
ต้นทุนสำคัญในการถ่ายภาพให้ได้คุณภาพสูงอย่างหนึ่งที่ผมพบคือ ขนาดพื้นที่ของสูติโอนี่ละ ต้องยอมรับครับว่า ถ้าเราจะหาบ้าน หรือห้องแถว ที่กว้าง 6m. ลึก 10 m. ไม่มีเสากลาง ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่สร้างขึ้นมาเฉพาะ แต่สิ่งที่ตามมาจากการลงทุนไปเช่าสตูดิโอที่มีขนาดใหญ่ได้มาตรฐาน
คือ การทำงานง่ายละ ราบรื่นขึ้น มาก ช่างภาพก็เอาเวลาไปใส่ใจกับเรื่องความงามได้มากขึ้น แทนที่จะมาใส่ใจกับการแก้ปัญหาทางเทคนิค
ถ้าท่านถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก อยากจะถ่ายรูปเล่นได้บ่อยๆ มีความสุขกับการถ่ายภาพ ท่านจะทำสตูขนาดเท่าไหร่ คงไม่เป็นปัญหา แค่ให้รู้ว่า ท่านมีข้อจำกัดในการถ่าย ไม่ใช่ซื้อ Flash มาแล้วจะถ่ายได้ทุกอย่าง
สำหรับท่านที่ คิดจะทำงานจริงจัง ก็แนะนำว่าอย่ารับงานเกินความสามารถ และ พื้นที่สตูดิโอที่ท่านจะจัดการได้ครับ เช่าสตูดิโอดีๆ พื้นที่ใหญ่ไว้ก่อน ราคาต่อคิวไม่กี่พัน เทียบกับค่าตัวตากล้องค่าตัวนายแบบ นางแบบ ระดับดีๆแล้ว ถูกมากครับ อย่าเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่ายผมเคยเห็นมาแล้ว
หวังว่าข้อมูลตรงนี้จะช่วยเป็นแนวทาง ขอให้ความฝันที่จะมีโฮมสตูดิโอเป็นจริงครับ 🙂